หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เศรษฐกิจสมัยอยุธยา ตอนที่ 1



เศรษฐกิจสมัยอยุธยา ตอนที่ 1



          ในสมัยอยุธยา ประชาชนทั่วราชอาณาจักรมีความเป็นอยู่พึ่งตนเองสูง โดยต่างผลิตสิ่งที่จำเป็นในการครองชีวิตขึ้นเองเกือบทุกชนิด จนกล่าวกันติดปากว่า หมดหน้านาผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายตีเหล็กดังนั้น ผลิตผลในครัวเรือน นับตั้งแต่ข้าวปลาอาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน ตลอดจนเครื่องมือต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ผลิตขึ้นเองเกือบทั้งสิ้น บรรดาอาหารและสิ่งต่างๆ ที่ผลิตขึ้นเพื่อบริโภคเองในครอบครัว เมื่อเหลือจากความต้องการแล้วก็นำไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นที่ต้องการ หรือขาย ลักษณะของการแลกเปลี่ยนนี้ได้สะท้อนออกมาจากคำร้องในการละเล่นว่า “...มีมะกรูด มาแลกมะนาว มีลูกสาว มาแลกลูกเขย   เอาวะเหวย  ลูกเขยของเรา ตะลาลา...” นี้ ทำให้ความต้องการใช้เงินตรามีน้อย และมีผลโดยตรงทำให้ปริมาณเงินตราที่ หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจสมัยอยุธยามีน้อยตามไปด้วย

            ในด้านการผลิตนั้น ด้วยสภาพของดินอันอุดมไปด้วยปุ๋ยธรรมชาติที่กระแสน้ำสำคัญ ๓ สาย คือ  แม่น้ำเจ้า พระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี พัดพามาเป็นประจำทุกปี เมื่อประกอบกับน้ำฝนที่มีปริมาณมากแล้ว การทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาปลูกข้าว  จึงเป็นอาชีพสำคัญของผู้คนในสมัยนั้น การทำนาอาศัยแรงงานของสมาชิกในครอบครัวและสัตว์พาหนะที่เลี้ยงไว้ ทั้งมีวิธีทำนาตามแบบดั้งเดิม โดยทางการไม่ได้เข้ามามีบทบาทในการปรับปรุงให้ดีขึ้น แม้เช่นนั้น ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดินความ กว้างใหญ่ของพื้นที่ทำนา ทำให้อยุธยาสามารถผลิตข้าวเป็นจำนวนมากพอเลี้ยงประชากรได้ทั้งหมด แล้วยังมีเหลือมากพอที่ทางการส่งเป็นสินค้าออกไปขายต่างประเทศมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นอีกด้วย

           นอกจากข้าวแล้ว ยังมีการปลูกพืชผักผลไม้นานาชนิดไว้บริโภคเอง ซึ่งพืชบางชนิดก็ปลูกได้มากจนทางการสามารถส่งออกเป็นสินค้าได้เช่นกัน ได้แก่ หมาก มะพร้าว น้ำมันมะพร้าว ฝ้าย น้ำตาล พริกไทย เป็นต้น

           สำหรับปัจจัยสำคัญในการผลิต ได้แก่ “ที่ดิน” นั้น โดยลักษณะของกฎหมายในสมัยอยุธยา ที่ดินทั้งหมดเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน ประชาชนเป็นผู้อาศัยและทำกิน ดังปรากฏในพระไอยการเบ็ดเสร็จว่า...

         “...
ที่ในแว่นแคว้นกรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ เป็นที่แห่งพระเจ้าอยู่หัว  หากให้ราษฎรทั้งหลายผู้เป็น ข้าแผ่นดิน จะได้เป็นที่ราษฎรหามิได้...” ดังนั้น โดยแท้จริงแล้ว ประชาชนจึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และแม้ว่าจะขาย สืบมรดก จำนอง จำนำ ที่ดินที่ได้ก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงโอนกรรมสิทธิ์การใช้ที่ดินแก่กันเท่านั้น ทางการยังคงมีสิทธิเรียกคืนได้ทุกเมื่อ แต่ตราบใดที่ประชาชนยังคงทำประโยชน์บนผืนดินเป็นประจำทุกปีแล้ว ก็ยังคงมีสิทธิในที่ดินผืนนั้นได้ต่อไปตราบเท่าที่ทางการยังไม่เรียกคืน โดยมีข้อผูกพันว่าจะต้องจ่ายภาษีหรือที่เรียกว่า อากรค่านา ให้แก่ทางการ ส่วนจำนวนที่ดินที่แต่ละครอบครัวจะใช้ทำประโยชน์ได้นั้น ต่างก็จะครองสิทธิทำกินบนผืนดินเท่าที่จะ อยู่ในวิสัยที่มีกำลังจะทำได้เท่านั้น เนื่องจากผืนดินที่เจ้าของทั้งร้างไปหลายปีแล้ว ผู้ที่ต้องการจะเข้าทำประโยชน์ย่อมถือสิทธิเข้าไปทำแทนได้ ดังนั้น ตามนัยของกฎหมายในสมัยอยุธยาแล้วที่ดินจึงมิใช่สินค้าที่แท้จริง


เศรษฐกิจสมัยอยุธยา ตอนที่ 2
เศรษฐกิจสมัยอยุธยา ตอนที่ 3
เศรษฐกิจสมัยอยุธยา ตอนที่ 4

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น