เศรษฐกิจสมัยอยุธยา ตอนที่ 2
ประชาชนในสมัยอยุธยา นอกจากทำนาทำไร่
ผลิตเสื้อผ้าอาหารเพียงเพื่อการบริโภคในครัวเรือนแล้ว ยามว่างจากงานในไร่นายังหาผลิตผลจากป่าในฤดูแล้งอีกด้วย
ผลิตผลจากป่านี้ เป็นส่วนเกินจากการผลิตเพื่อการยังชีพดังกล่าวแล้ว
โดยอาจจะมีรายได้เพิ่มขึ้นบ้าง
และการเก็บผลิตผลจากป่าเกือบทั้งหมดเป็นการแสวงหาเพื่อเป็น “ส่วย” ให้แก่ทางการ ส่วยจึงเป็นภาษีที่เก็บจากประชาชนที่อาศัยอยู่ห่างไกลไม่สะดวกแก่การเดินทางไปทำงาน
เมื่อถูกเกณฑ์แรงงานตามระบบไพร่ ทางการจะเป็นผู้กำหนดชนิดของส่วยตามแต่ว่าเมืองใดผลิตอะไรที่สำคัญ
และทางการมีความต้องการผลิตผลนั้นด้วย ส่วยจึงมีอยู่หลายชนิด
กระจายอยู่ทั่วราชอาณาจักรที่สำคัญได้แก่ ไม้หอม ไม้จันทน์ ไม้ฝาง รัก ผลเรว หนังสัตว์
แร่ธาตุ ทองคำ ดีบุก ตะกั่ว เป็นต้น
ส่วยพวกนี้บางชนิดได้กลายเป็นสินค้าออกของอยุธยามาตั้งแต่ต้นเช่นกันและทวีความสำคัญมากขึ้นเมื่อการค้าต่างประเทศเฟื่องฟูขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง
|
การลงแขกเกี่ยวข้าวสมัยอยุธยา |
นอกจากการเพาะปลูกแล้ว
ประชาชนมีการผลิตและการค้าเช่นกัน โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ
ซึ่งไม่ได้ผลิตอาหารและสิ่งต่างๆ ขึ้นเอง ตามคำให้การของขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ปรากฏว่า ในอยุธยามีการประกอบกิจกรรมขนาดเล็ก ได้แก่ โรงสกัดน้ำมัน โรงตีเหล็ก
โรงต้มกลั่นสุรา โรงเครื่องปั้นดินเผา โรงสีข้าวด้วยมือ โรงเลื่อย เป็นต้น
ส่วนสถานที่ค้าขายนั้น มีตลาดน้ำรอบตัวเกาะเมืองอยุธยาขนาดใหญ่ ๔ แห่ง
ตลาดนอกเมืองขนาดใหญ่ ๓๐ แห่ง ย่านการค้านอกเมือง ๕๒ แห่ง เป็นที่ค้าขาย
ด้วยสภาพดังสรุปได้ว่า การค้าขายมีความคึกคักเฉพาะในบริเวณเมืองใหญ่เท่านั้น ส่วนการค้าภายในอาณาจักรนั้น เนื่องจากประชาชนในสมัย
อยุธยายังอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบพอยังชีพ จึงทำให้การค้าภายในระหว่างหัวเมืองมีน้อย เป็นลักษณะพ่อค้าจากต่างเมืองนำสินค้าเข้ามาขาย ในกรุง
และเป็นการค้าขนาดเล็กเพียงพอแก่ความต้องการตามพื้นฐานการครองชีพเท่านั้น
แรงงานของประชาชนนอกจากจะใช้ไปในการผลิตเพื่อการครองชีพแล้ว
ยังถูกเกณฑ์แรงงานไปใช้ในกิจการของทางการด้วย ไม่ว่าจะถูกเกณฑ์
เป็นไพร่พลกองทัพยามสงคราม หรืองานอื่นๆ ของเจ้าขุนมูลนาย รวมทั้งงานพิเศษ เช่น
งานขุดคลอง ทำถนน สร้างป้อม สร้างวัง สร้างกำแพงอีกด้วย ระบบการเกณฑ์แรงงานนี้เรียกกันว่า “ระบบไพร่” กล่าวคือ สามัญชนชายหญิงที่มิได้เป็นเจ้านาย ขุนนาง พระสงฆ์ หรือเป็นทาสแล้ว จะต้องถูกเกณฑ์แรงงานตั้งแต่อายุประมาณ ๑๘-๒๐ ปี
ไปจนถึงประมาณ ๖๐-๗๐ ปี ผู้ที่สักเลกมีสังกัดจัดว่าเป็นไพร่หลวงจะต้องผลัดกันไป
ทำงานเดือนเว้นเดือนให้แก่ทางการโดยไม่ได้รับค่าจ้าง เรียกว่า “เข้าเดือนออกเดือน”นอกจากนี้ยังอาจถูกเกณฑ์แรงงานไปทำงานโยธาอื่นๆ
ได้อีก ซึ่งไพร่จะต้องนำอาหารและเครื่องมือของตนเองไปใช้ในงานที่ถูกเกณฑ์นั้น
กรณีที่ไพร่อาศัยอยู่ห่างไกลหรือทางการไม่ต้องการแรงงานก็จัดเป็น “ไพร่ส่วย” มีหน้าที่ต้องจัดหาสิ่งของที่ทางการต้องการส่งมาเป็นส่วยแทนการถูกเกณฑ์แรงงานดังกล่าวแล้ว ถ้าเป็นไพร่ที่จัดให้ไปทำงานที่บ้านมูลนายที่เรียกว่า ไพร่สม นั้น
จะต้องไปทำงานในที่ดินของมูลนายซึ่งมีได้ตามสิทธิที่ได้รับพระราชทานในระบบศักดินา
|
ไพร่ สมัยอยุธยา |
เศรษฐกิจสมัยอยุธยา ตอนที่ 1
เศรษฐกิจสมัยอยุธยา ตอนที่ 3
เศรษฐกิจสมัยอยุธยา ตอนที่ 4
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น