หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เศรษฐกิจสมัยอยุธยา ตอนที่ 3


                              เศรษฐกิจสมัยอยุธยา ตอนที่ 3

            การเป็นไพร่มีสังกัด พวกไพร่จะได้รับสิทธิบางอย่างในการจดทะเบียนที่ทำกัน สิทธิในการฟ้องร้องคดีเพื่อให้ได้มา ซึ่งความคุ้มครองในชีวิตและทรัพย์ตามกฎหมายที่กำหนดศักดินา ไว้พิจารณาเปรียบเทียบปรับในศาล ผู้ที่ไม่มีสังกัดจะไม่สามารถฟ้องร้องคดีใดๆ ได้ และจะต้องถูกจับไปเป็นไพร่หลวงอีกด้วย ดังนั้น สามัญชนทุกคนจึงต้องอยู่ในระบบไพร่  แต่การที่ บรรดาไพร่ที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ   ถูกเกณฑ์แรงงานโดยไม่มีค่าตอบแทน  เป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกันเป็นระยะเวลาถึงหกเดือนในแต่ละปี    ทั้งยาวนานติดต่อกันเป็นเวลา หลายปี จึงทำให้บรรดาไพร่ยากที่จะทำการงานและธุรกิจใดๆ ให้เจริญเติบโต หรือสามารถสะสมทุน ตลอดจนไม่สามารถไปมาค้าขายในที่ไกลๆ ได้   นับว่าระบบไพร่ได้ตัดโอกาสใน การที่ประชาชนจะสามารถประกอบอาชีพ ให้เป็นล่ำเป็นสันลงทั้งมีส่วนทำให้ประชาชนทำการผลิตเพียงเพื่อการบริโภคในครัวเรือน มิได้ผลิตเพื่อเป็นสินค้าและนอกจากประชาชนใน สมัยอยุธยาต้องเสียภาษีให้แก่ทางการในรูปของแรงงานและสิ่งของที่เป็นส่วยแล้ว ผู้ที่ประกอบการค้าจะต้องเสียภาษีจากการประกอบกิจการด้วย โดยทางการจะเก็บ “จังกอบ” เมื่อขนสินค้าผ่านด่านเรียกว่า “ขนอน” ในอัตราสิบชักหนึ่งเก็บอาการจากการทำนาทำไร่  ทำสวนหรือกิจการที่ได้รับสัมปทาน เช่น เก็บของป่า จับ ปลา ต้มเหล้า ตั้งบ่อน ต่างต้องเสียอากรทั้งสิ้น อากรบางชนิดจ่ายเป็นสิ่งที่ผลิตขึ้น เช่น อากร ค่านาที่จ่ายเป็นข้าวให้ทางการที่เรียกว่าหางข้าว” ซึ่งผู้จ่ายมีหน้าที่ที่จะต้องขนข้าวไปยังยุ้งฉางของทางการ

ศูนย์ประวัติศาสตร์อยุธยา จำลองภาพชีวิต
สังคม วัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยาในอดีตขึ้นมาใหม่

นิทรรศการรูปจำลอง เรือสำเภาชองชาติต่างๆ
 
ที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา

             ด้วยลักษณะการผลิตของประชาชนที่ทำเพียงพอแก่การยังชีพ เศรษฐกิจของอยุธยาจึงเป็นเศรษฐกิจแบบพอยังชีพไปด้วย แต่ด้วยระบบของการ จัดเก็บภาษีการเกณฑ์แรงงานหรือการการมีไพร่ส่วยนี้ ได้ทำให้เกิดมีสินค้าขึ้น มีการขนถ่ายผลิตผลที่ได้จากภาษีอากรและผลิตผลจากป่าไปยังเมืองหลวง ซึ่งเมื่อทางการนำสิ่งเหล่านั้นไปใช้จนเพียงพอแล้วก็รวบรวมผลิตผลที่เหลือเหล่านี้ไว้ในคลัง เพื่อขายให้แก่พ่อค้าต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาขอซื้อ หรือบรรทุกเรือสำเภาของพระเจ้าแผ่นดิน เจ้านายบางพระองค์ส่งไปขายยังต่างประเทศ ซึ่งในสมัยอยุธยาตอนต้น ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ริวกิว ฟิลิปปินส์ทางตะวันออก อินเดีย ลังกา อาหรับ ชวา มลายูทางตะวันตกและทางใต้ เป็นต้น สินค้าที่นำไปขายยังประเทศจีนจะอยู่ในระบบสินค้าบรรณาการที่มีการส่งสินค้าไปพร้อมกับเครื่องบรรณาการที่ส่งไปถวายพระเจ้าแผ่นดินจีน สินค้าพวกนี้จะได้รับอนุญาตให้ขายได้โดยส ะดวกและไม่มีการเก็บภาษีอีกด้วย สินค้าในระบบบรรณาการกับจีนซึ่งเป็นมหาอำนาจใหญ่และขณะนั้น มีความสำคัญมาก เนื่องจากมีกำไรสูง และเมื่อขายสินค้าแล้วก็จะซื้อสินค้าของจีน ซึ่งเป็นที่ต้องการมากในอยุธยาเองและในหมู่พ่อค้าตะวันตกกลับมา การค้าในลักษณะนี้มีอยู่เกือบตลอดสมัยอยุธยา กล่าวได้ว่า ภาษีที่เก็บในรูปของพืชผล และส่วยผลิตผลจากป่าได้ทำให้เกิด การค้าต่างประเทศขึ้น โดยที่ผลิตผลเหล่านี้ได้มาจากส่วยสาอากรที่ไม่มีค่าใช้จ่าย ดังนั้น การค้าต่างประเทศจึงก่อให้เกิดรายได้แก่พระมหากษัตริย์สมัยอยุธยาเป็นจำนวนมากมาย นอกจากนี้ ผู้ที่ สามารถประกอบการค้าต่างประเทศได้ก็มีแต่ เจ้านาย ข้าราชการชั้นสูง ข้าราชการพระคลังสินค้า และชาวต่างประเทศอีกจำนวนหนึ่งเท่านั้น เพราะการค้าต่างประเทศเป็นกิจการที่ต้องใช้ทุนเป็นจำนวนมาก

             การที่กรุงศรีอยุธยามีอาณาเขตกว้างใหญ่ออกไปจากเดิมมาก เนื่องจากการขยายอาณาเขตในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดี ที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ไปจนถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช ที่ ๒ หรือเจ้าสามพระยา (พ.ศ. ๑๙๖๗-๑๙๙๑) ทำให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๑๙๙๑- ๒๐๓๑) ทรงปฏิรูปการปกครองใหม่ใน พ.ศ. ๑๙๙๘ โดยรวมอำนาจการปกครองเข้าสู่ศูนย์กลางของอาณาจักร เพื่อให้สามารถควบคุมหัวเมืองและประเทศราชได้ดียิ่งขึ้น ทรงปรับปรุงระบบการคลัง การจัดเก็บภาษีอากร การจัดซื้อสิ่งของที่ทางการต้องการ การขายสิ่งของเป็นสินค้าหลวงและการค้าต่างประเทศในคราวเดียวกันด้วย โดยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของพระยาโกษาธิบดี เสนาบดีฝ่ายพลเรือนแต่ฝ่ายเดียว การปรับปรุงดัง กล่าวทำให้สามารถจัดเก็บส่วยอากรจากพระราชอาณาจักรอันกว้างใหญ่ได้มากยิ่งขึ้น และทำให้มีเหลือเป็นสินค้าออกในปริมาณที่มากขึ้นด้วย ประกอบกับกรุงศรีอยุธยามีอำนาจควบคุมหัวเมืองตามท่าชายทะเลฝั่งตะวันออก ได้แก่ กลันตัน ตรังกานู สงขลา สายบุรี ปัตตานี นครศรีธรรมราช เป็นต้น และหัวเมืองท่าชายทะเลฝั่งตะวันตก ได้แก่ ตะนาวศรี ตรัง ตะกั่วป่า มะละกา เป็นต้น จึงทำให้เกิดเครือข่ายการค้าและขนถ่ายส่งสิน ค้าระหว่างทะเลทั้ง ๒ ฝั่งได้สะดวก อยุธยาซึ่งมีการค้าขายกับจีนในระบบบรรณาการ การค้ากับริวกิวและญี่ปุ่นทางตะวันออก ทั้งยังค้าขายกับ อินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ ทางตะวันตก และมีสินค้าเครื่องเทศจากชวา มลายู จากทางใต้ จึงทำให้อยุธยากลายเป็นแหล่งกลางของสินค้าในย่านนี้ ทั้งยังสามารถติดต่อค้าขายขนถ่ายสินค้าตามเส้นทางน้ำขึ้นไปยังบ้านเมืองและอาณาจักรขนาดใหญ่ที่ลึกเข้าไปเช่น ลพบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ สุโขทัย ล้านนา และล้านช้าง อยุธยาจึงกลายเป็นตลาดกลางที่สำคัญในย่านนี้ไปโดยสมบูรณ์ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น