พัฒนาการด้านสังคมสมัยอยุธยา
ในสมัยอยุธยา
โครงสร้างสังคมไทยมีลักษณะสังคมศักดินา เพราะได้มีการตรากฎหมายแจกแจงให้เห็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้คนในสังคมตามมาตรฐานของตน
ทำให้สังคมไทยดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ
1.
ความเป็นมาของสังคมศักดินาสมัยอยุธยา
คำว่า “ศักดินา” หมายถึง
เครื่องกำหนดสิทธิและหน้าที่ของบุคคลในสังคม
เป็นการจำแนกให้เห็นถึงความแตกต่างในเรื่องสิทธิและหน้าที่ของบุคคลตามศักดินา เช่น
ผู้มีศักดินา 400 ขึ้นไปมีสิทธิ์เข้าเฝ้าได้ แต่ต่ำกว่านี้ลงมาไม่มีสิทธิ์เข้าเฝ้า
ขณะเดียวกันผู้ที่มีศักดินา 400
ก็มีสิทธิ์ในการถือครองที่ดินเหนือกว่าผู้ที่มีศักดินาต่ำกว่าลงไป เป็นต้น
ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา
ได้ทรงตราอัยการตำแหน่งนาพลเรือนและพระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง
หรือที่เรียกว่า “กฎหมายศักดินา” ขึ้นมาบังคับใช้เมื่อ พ.ศ. 1997
โดยกำหนดให้บุคคลทุกประเภทในสังคมไทยที่มีศักดินาด้วยกันทั้งสิ้นแตกต่างกันไปตามฐานะอำนาจและหน้าที่ความรับผิดชอบ
ยกเว้นพระมหากษัตริย์ซึ่งมิได้ระบุศักดินาเพราะพระองค์ทรงเป็นเจ้าศักดินาทั้งปวง
ระบบศักดินาอำนวยประโยชน์ในการควบคุมบังคับบัญชาผู้คนตามลำดับชั้นของศักดินาและการหมอบหมายให้คนมีหน้าที่รับผิดชอบตามที่กำหนดเอาไว้
เมื่อบุคคลทำความผิดต่อกันก็สามารถใช้เป็นหลักไหมการปรับไหมได้ เช่น
ถ้าผู้มีศักดินาสูงทำความผิดต่อผู้ที่มีศักดินาต่ำกว่าก็จะปรับไหมตามศักดินาของผู้ที่มีศักดินาสูงกว่า
ถ้าผู้ที่มีศักดินาต่ำกว่ากระทำผิดต่อผู้ที่มีศักดินาสูงกว่าก็จะปรับไหมผู้ที่ทำผิดตามศักดินาสูงกว่า
ทั้งนี้เพื่อป้องกันการมิให้ผู้ใหญ่รังแกผู้น้อยและมิให้ผู้น้อยละเมิดผู้ใหญ่
เป็นต้น
การใช้ศักดินาเป็นตัวกำหนดความรับผิดชอบตามฐานะของบุคคลในสังคม
เพราะคนไทยสมัยนั้นมี “นา” เป็นเครื่องมือสำหรับยังชีพในชีวิตประจำวันทั่วทุกคน
2.
ลักษณะโครงสร้างสังคมไทยสมัยอยุธยา
โครงสร้างทางสังคมไทยสมัยอยุธยา
มีองค์ประกอบที่สำคัญดังต่อไปนี้
2.1 พระมหากษัตริย์
ทรงเป็นพระประมุขของราชอาณาจักร พระองค์ทรงเป็นเสมือนเจ้าชีวิตของทุกคนในแผ่นดิน
จึงเรียกว่า “เจ้าแผ่นดิน”
พระองค์ทรงได้รับการยกย่องให้เป็น สมมติเทพ ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
นอกจากนี้ยังทรงเป็น “ธรรมราชา” เช่นเดียวกับคติความเชื่อในสมัยสุโขทัย
เพราะพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธศาสนูปถัมภก พระองค์จึงต้องมี ทศพิธราชธรรม 10
ปะการ อันเป็นข้อปฏิบัติของพระมหากษัตริย์เพื่อให้ราษฎรเกิดความผาสุกทั่วหน้า
2.2 พระบรมวงศาสนุวงศ์ คือ บรรดาเจ้านาย
ซึ่งมีลักษณะเครือญาติของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์นั้นๆ
บรรดาเจ้านายก็มีศักดินาแตกต่างกันไปตามฐานะ เช่น สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงศักดินา
20,000 แต่พระลูกเธอทรงศักดินา 15,000 เป็นต้น
บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์เหล่านี้จะได้รับส่วนแบ่งจากรายได้ภาษีอากรของแผ่นดิน
โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานให้ ส่วนสิทธิตามกฎหมายของเจ้านายคือ จะถูกพิจารณาคดีในศาลใดๆ
ไม่ได้ นอกจากศาลของกรมวัง และจะถูกนำไปขายเป็นทาสไม่ได้
ภาพขุนนางไทยสมัยอยุธยา ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ |
2.3 ขุนนาง คือ
บุคคลรับราชการแผ่นดินสนองเดชพระคุณของพระมหากษัตริย์ โดยขุนนางมีฐานะอยู่บนเกณฑ์
4 ประการ คือ ศักดินา ยศ ราชทินนาม และตำแหน่ง เช่น เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายก ถือศักดินา 10,000 มียศเป็นเจ้าพระยา
มีพระราชทินนามว่า จักกรีศรีองครักษ์ มีตำแหน่งเป็นสมุหนายก เป็นต้น ขุนนางจะมีศักดินาลดหลั่นกันลงไปตามยศที่ได้รับ
และได้รับการโปรดเกล้า แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์เท่านั้น
2.4 ไพร่ คือ ราษฎรทั้งหลายที่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานให้กับราชการ ทั้งในยามปกติและในยามสงครามไพร่จะต้องสังกัดมูลนาย ถ้าไม่มีสังกัดมูลหน้าจะมีความผิด
2.5 ทาส หมายถึง
บุคคลที่มิได้มีกรรมสิทธิ์ในแรงงานและชีวิตของตนเอง
แต่กลับเป็นของนายจนกว่าจะได้รับการไถ่ตัวให้พ้นจากความเป็นทาสนายมีสิทธิซื้อขายทาสได้
ทาสมีศักดินา 4 และถือเป็นบุคคลที่มีฐานะต่ำต้อยในสังคม
ภาพวาดพระภิกษุสงฆ์สมัยอยุธยา ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ |
2.6 พระภิกษุสงฆ์ คือ บุคคลที่สืบทอดพระพุทธศาสนาซึ่งได้รับการยกย่องและศรัทธาจากบุคคลทุกชนชั้น
ในสังคมคมอยุธยาตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงไพร่และทาส
สามารถจะบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ได้ ดังนั้น
สถาบันสงฆ์จึงมีบทบาทสำคัญในการประสานกลุ่มคนในสังคมไทยให้ดำรงอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข
กล่าวโดยสรุป สภาพสังคมไทยสมัยอยุธยามีลักษณะเป็นสังคมศักดินา
ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มบุคคลที่มีความสำคัญต่อสังคมในฐานะที่แตกต่างกันออกไป
สังคมอยุธยาเป็นสังคมที่มีความเคลื่อนไหวไม่คงที่ เช่น ทาสสามารถเลื่อนฐานะเป็นไพร่ได้เมื่อได้รับการไถ่ตัวให้เป็นอิสระ
หรือ ไพร่ก็สามารถเลื่อนขึ้นเป็นขุนนางได้
เมื่อมีความสามารถทำคุณประโยชน์ให้กับแผ่นดินเป็นที่ประจักษ์
ในทางกลับกันถ้าขุนนางทำความผิดก็อาจถอดถอนเป็นไพร่ได้
และถ้าไพร่เป็นหนีสินจนไม่สามารถใช้หนี้ให้นายเงินได้ก็จะตกเป็นทาสของนายเงินในที่สุด
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนับเป็นลักษณะของการเลื่อนชั้นทางสังคมอันเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น