พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเสวยราชย์ประมาณ พ.ศ. ๑๘๒๒ ถึงประมาณ พ.ศ. ๑๘๔๑ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์พระร่วงกรุงสุโขทัย พระองค์ทรงรวบรวมอาณาจักรไทยขึ้นเป็นปึกแผ่นกว้างขวาง ทั้งยังได้ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้น ทำให้ชาวไทยได้สะสมความรู้ทางศิลปะ วัฒนธรรม และวิชาการต่าง ๆ สืบทอดกันมากว่า ๗๐๐ ปี พ่อขุนรามคำแหงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๓ ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับนางเสือง พระเชษฐาองค์แรกสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระเชษฐาองค์ที่ ๒ ทรงพระนามตามศิลาจารึกว่า พระยาบานเมือง ได้เสวยราชย์ต่อจากพระราชบิดา เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วพ่อขุนรามคำแหงจึงได้เสวยราชย์ต่อมา
ตามพงศาวดารโยนก พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งสุโขทัย พระยามังรายมหาราช
(หรือพระยาเม็งราย)
แห่งล้านนา และพระยางำเมืองแห่งพะเยา เป็นศิษย์ร่วมพระอาจารย์เดียวกัน ณ สำนักพระสุกทันตฤๅษีที่เมืองละโว้ จึงน่าจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน พระยามังรายประสูติเมื่อ พ.ศ.๑๗๘๒ พ่อขุนรามคำแหงน่าจะประสูติในปีใกล้เคียงกันนี้
เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมีพระชนมายุ ๑๙ พรรษา พระองค์ได้ทรงทำยุทธหัตถีมีชัยต่อขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด
(อยู่ริมแม่น้ำเมยใกล้จังหวัดตาก แต่อาจจะอยู่ในเขตประเทศพม่าในปัจจุบัน) พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงทรงขนานพระนามพ่อขุนรามคำแหงว่า “พระรามคำแหง” สันนิษฐานว่าพระนามเดิมของพระองค์คือ “ราม” เพราะปรากฏพระนามเมื่อเสวยราชย์แล้วว่า “พ่อขุนรามราช”
อนึ่ง สมัยนั้นนิยมนำชื่อปู่มาตั้งเป็นชื่อหลาน พระราชนัดดาของพระองค์มีพระนามว่า “พระยาพระราม” (จารึกหลักที่ ๑๑) และในชั้นพระราชนัดดาของพระราชนัดดามีเจ้าเมืองพระนามว่า “พระยาบาลเมือง” และ“พระยาราม” (เหตุการณ์ พ.ศ. ๑๙๖๒) ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ อักษรนิติ์
ตรี อมาตยกุล ได้เสนอว่า พ่อขุนรามคำแหงน่าจะเสวยราชย์ พ.ศ. ๑๘๒๒ เพราะเป็นปีที่ทรงปลูกต้นตาลที่สุโขทัย ประเสริฐ ณ นคร จึงได้หาหลักฐานมาประกอบว่า กษัตริย์ไทอาหมทรงปลูกต้นไทรครั้งขึ้นเสวยราชย์ อย่างน้อย ๗ รัชกาลด้วยกัน ทั้งนี้เพื่อสร้างโชคชัยว่ารัชกาลจะอยู่ยืนยงเหมือนต้นไม้ อนึ่งต้นตาลและต้นไทรเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของลังกา
รัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงเป็นยุคที่กรุงสุโขทัยเฟื่องฟูและเจริญขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก ระบบการปกครองภายในก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยอย่างมีประสิทธิภาพ มีการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง ไพร่ฟ้าประชาชนอยู่ดีกินดี สภาพบ้านเมืองก้าวหน้าทั้งทางเกษตร การชลประทาน การอุตสาหกรรม และการศาสนา อาณาเขตของกรุงสุโขทัยได้ขยายออกไปกว้างใหญ่ไพศาล
พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๖ ทำให้อนุชนสามารถศึกษาความรู้ต่าง ๆ ได้สืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน ตัวหนังสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีลักษณะพิเศษกว่าตัวหนังสือของชาติอื่นซึ่งขอยืมตัวหนังสือของอินเดียมาใช้ คือพระองค์ได้ประดิษฐ์พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์เพิ่มขึ้นให้สามารถเขียนแทนเสียงพูดของคำภาษาไทยได้ทุกคำ และได้นำสระและพยัญชนะมาอยู่ในบรรทัดเดียวกันโดยไม่ต้องใช้พยัญชนะซ้อนกัน ทำให้เขียนและอ่านหนังสือไทยได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้นมาก นับว่าพระองค์ทรงพระปรีชาล้ำเลิศ และทรงเห็นการณ์ไกลอย่างหาผู้ใดเทียบเทียมได้ยาก
ในด้านการปกครอง เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงขจัดอิทธิพลของเขมรออกไปจากเมืองสุโขทัยได้ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ การปกครองของกษัตริย์สุโขทัยเป็นแบบพ่อปกครองลูก ดังข้อความในจารึกหลักที่ ๑ ว่า “เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกูกูได้หมากส้มหมากหวาน อันใดกินอร่อยกินดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปตีหนังวังช้างได้ กูเอามาแก่พ่อกูกูไปท่อบ้านท่อเมือง ได้ช้างได้งวงได้ปั่วได้นาง ได้เงือนได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู”
ข้อความดังกล่าวแสดงการนับถือพ่อแม่ และถือว่าความผูกพันในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ ครอบครัวทั้งหลายรวมกันเข้าก็เป็นเมืองหรือรัฐ มีเจ้าเมืองหรือพระมหากษัตริย์เป็นหัวหน้าครอบครัว พระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัวใหญ่ ปกครองพลเมืองเสมือนเป็นลูกหลาน ช่วยให้มีที่ทำกิน คอยป้องกันมิให้คนถิ่นอื่นมาแย่งชิงถิ่น ถ้าลูกหลานทะเลาะวิวาทกัน ก็ตัดสินคดีด้วยความเป็นธรรม
พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจสิทธิ์ขาดที่จะบริหารราชการแผ่นดิน ทำศึกสงครามตลอดจนพิพากษาอรรถคดี แต่ก็มิได้ใช้พระราชอำนาจเฉียบขาดอย่างกษัตริย์เขมร ดังปรากฏข้อความในจารึกหลักที่ ๑ ว่า ราษฎรสามารถค้าขายได้โดยเสรี เจ้าเมืองไม่เรียกเก็บจังกอบ หรือภาษีผ่านทาง ผู้ใดล้มตายลง ทรัพย์สมบัติตกเป็นมรดกแก่ลูก หากผู้ใดไม่ได้รับความเป็นธรรมในกรณีพิพาท ก็มีสิทธิ์ไปสั่นกระดิ่งถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ได้
ยิ่งกว่านั้น พ่อขุนรามคำแหงมหาราชยังทรงใช้พระพุทธศาสนาเป็นเครื่องช่วยในการปกครองโดยได้ทรงสร้างพระแท่นมนังศิลาบาตรขึ้น ให้พระเถรานุเถระแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันพระ ส่วนวันธรรมดาพระองค์เสด็จประทับเป็นประธานให้เจ้านายและข้าราชการปรึกษาราชการร่วมกัน เมื่อประชาชนเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาและประพฤติปฏิบัติแต่ในทางที่ดีที่ชอบ การปกครองก็จะสะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น
ในด้านอาณาเขต พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง คือทางทิศตะวันออกทรงปราบได้เมืองสระหลวง สองแคว
(พิษณุโลก)
ลุมบาจาย สะค้า (สองเมืองนี้อาจอยู่แถวลุ่มแม่น้ำน่านหรือแควป่าสักก็ได้) ข้ามฝั่งแม่น้ำโขงไปถึงเวียงจันทน์ เวียงคำในประเทศลาว ทางทิศใต้พระองค์ทรงปราบได้คนที (บ้านโคน กำแพงเพชร) พระบาง (นครสวรรค์) แพรก (ชัยนาท)สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช มีฝั่งทะเลสมุทร (มหาสมุทร) เป็นเขตแดน ทางทิศตะวันตกพระองค์ทรงปราบได้เมืองฉอด เมืองหงสาวดี และมีมหาสมุทรเป็นเขตแดน ทางทิศเหนือ พระองค์ทรงปราบได้เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองพลัว
(อำเภอปัว จังหวัดน่าน) ข้ามฝั่งโขงไปถึงเมืองชวา(หลวงพระบาง)
เป็นเขตแดน
ในด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงสร้างพระราชไมตรีกับพระยามังรายแห่งล้านนาและพระยางำเมืองแห่งพะเยาทางด้านเหนือ และทรงยินยอมให้พระยามังรายขยายอาณาเขตล้านนาทางแม่น้ำกก แม่น้ำปิง และแม่น้ำวังได้อย่างสะดวก เพื่อให้เป็นกันชนระหว่างจีนกับสุโขทัย และยังได้เสด็จไปทรงช่วยเหลือพระยามังรายหาชัยภูมิสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ ด้วย
ทางประเทศมอญ มีพ่อค้าไทยใหญ่ชื่อมะกะโทได้เข้ารับราชการอยู่ในราชสำนักของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มะกะโทได้ผูกสมัครรักใคร่กับพระราชธิดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้วพากันหนีไปอยู่เมืองเมาะตะมะ ต่อมาได้ฆ่าเจ้าเมืองเมาะตะมะแล้วเป็นเจ้าเมืองแทนเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๔ แล้วขอพระราชทานอภัยโทษต่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และได้รับพระราชทานนามเป็นพระเจ้าฟ้ารั่วและยินยอมเป็นประเทศราชของกรุงสุโขทัย
ทางทิศใต้พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงอัญเชิญพระมหาเถรสังฆราชผู้เรียนจบพระไตรปิฎก มาจากนครศรีธรรมราช เพื่อให้เผยแผ่พระพุทธศาสนาในกรุงสุโขทัย
ส่วนเมืองละโว้ยังเป็นเอกราชอยู่ เพราะปรากฏว่าระหว่าง พ.ศ. ๑๘๓๔-พ.ศ. ๑๘๔๐ ยังส่งเครื่องบรรณาการไปเมืองจีนอยู่ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชคงจะได้ทรงผูกไมตรีเป็นมิตรกับเมืองละโว้พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงส่งราชทูตไปเมืองจีน ๓ ครั้ง เพื่อแสดงความเป็นมิตรไมตรีกับประเทศจีน
วรรณกรรมสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชสูญหายไปหมดแล้ว คงเหลือแต่จารึกหลักที่ ๑ (พ.ศ.๑๘๓๕) ซึ่งแม้จะมีข้อความเป็นร้อยแก้ว แต่ก็มีสัมผัสคล้องจองกันทำให้ไพเราะ เช่น “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว...ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย...เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พีน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด”นับเป็นวรรณคดีเริ่มแรกของกรุงสุโขทัย ซึ่งตกทอดมาถึงปัจจุบันโดยมิได้มีผู้มาคัดลอกให้ผิดเพี้ยนไปจากเดิม
จดหมายเหตุจีนระบุว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชสวรรคตใน พ.ศ. ๑๘๔๑ พระยาเลอไทยซึ่งเป็นพระราชโอรสเสวยราชย์ต่อมา