หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การเมืองการปกครองสมัยอยุธยา ตอนที่ 1


การเมืองการปกครองสมัยอยุธยา

         การเมืองการปกครองได้มีพัฒนาการตามลำดับและสอดคล้องกับสังคมและการเมืองภายในอาณาจักรอยุธยา โดยส่วนประกอบของลักษณะทางการเมืองการปกครองสมัยอยุธยาดังนี้

1. พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
          อาณาจักรอยุธยามีพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีพระราชอำนาจสูงสุดในการปกครอง พระองค์ทรงเป็นองค์ประมุขของอาณาจักร ทรงเป็นจอมทัพ เป็นเจ้าแผ่นดิน เจ้าชีวิต รวมทั้งเป็นเจ้าของศักดินาทั้งปวง เนื่องจากได้รับอิทธิพลที่มาจากหลักความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งเชื่อว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ อันหมายถึง พระนารายณ์หรือพระอิศวร(พระศิวะ) อวตารมาเกิด พระมหากษัตริย์จึงมีคุณลักษณะและความเป็นอยู่เหนือกว่าผู้คนทั้งปวง เช่น ต้องมีคำราชาศัพท์ที่ใช้เฉพาะกับองค์พระมหากษัตริย์ มีพระราชพิธีต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีความเป็นสมมติเทพ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น
          นอกจากนี้ พระมหากษัตริย์ทรงมีความเป็น “ธรรมราชา” ตามคติความเชื่อในพระพุทธศาสนาเหมือนกับสมัยสุโขทัยอีกด้วย โดยพระมหากษัตริย์จะต้องทรงประพฤติพระองค์ตามหลัก “ทศพิธราชธรรม” และ “จักรวรรดิวัตร” ในพุทธศาสนา

2. การจัดรูปแบบการปกครองสมัยอยุธยา
          ในสมัยอยุธยาได้มีการจัดรูปแบบการปกครองเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมทางการเมืองและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ดังนี้
ภาพวาดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคของพระมหากษัตริย์ไทยสมัยอยุธยาในจดหมายเหตุลาลูแบร์
          2.1 สมัยอยุธยาตอนต้น (พ.ศ.1893-1991) เริ่มต้นสมัยพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง)  จนถึงสมัยพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) เป็นสมัยที่อยุธยารับอิทธิพลของรูปแบบการปกครองแบบเขมรมรผสมผสานกับรูปแบบการปกครองในสมัยสุโขทัยโดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นธรรมราชาและได้รับการยกย่องเป็นสมมติเทพ และมีการจัดรูปแบบการปกครองของอาณาจักร ดังนี้
         
แผนผังแสดงเมืองหน้าด่านสมัยอยุธยาตอนต้น
      
การบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลางโดยมีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีขณะที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสูงสุดบริหารราชอาณาจักร โดยประทับอยู่ที่ราชธานีซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองทั้งหมดของอาณาจักรมีการกำหนดให้เมืองหน้าด่าน ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ลพบุรี(ทิศเหนือ) นครนายก(ทิศตะวันออก) พระประแดง(ทิศใต้) และสุพรรณบุรี(ทิศตะวันตก) เมืองหน้าด่านทั้ง 4 นี้ ใช้เวลาในการเดินทางมาถึงราชธานีภายใน 2 วัน บางเมืองยังมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงสำหรับใช้เชื้อพระวงศ์ชั้นสูงไปปกครองอีกด้วย
          นอกจากนี้กรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) ยังทรงแต่งตั้งเสนาบดี 4 ตำแหน่อง ที่เรียกว่า “จตุสดมภ์” แยกกันรับผิดชอบดูแลการบริหารราชการแผ่นดินตามพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ จตุสดมภ์แบ่งออกเป็น 4 หน่วยงาน คือ
          -กรมเวียง(เมือง) รับผิดชอบเกี่ยวกับการดูแลทุกข์สุขของราษฎร ปราบปรามโจรผู้ร้าย ลงโทษผู้กระทำความผิด มีเสนาบดีตำแหน่งขุนเวียงหรือขุนเมืองเป็นผู้รับผิดชอบ
          -กรมวัง รับผิดชอบเกี่ยวกับการพิจารณาคดีความต่างๆ และจัดระเบียบเกี่ยวกับราชสำนักมีเสนาบดีตำแหน่งขุนวังเป็นผู้รับผิดชอบ
          -กรมคลัง รับผิดชอบเกี่ยวกับการหารายได้และการรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน มีเสนาบดีตำแหน่งขุนคลังเป็นผู้รับผิดชอบ
          -กรมนา รับผิดชอบเกี่ยวกับการทำมาหากินของราษฎร เช่น การทำนา ทำไร่ ทำสวน มีหน้าที่ออกกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินและเก็บภาษีค่านา ที่เรียกว่า “หางข้าว” มีเสนาบดีตำแหน่งขุนนาเป็นผู้รับผิดชอบ
          การบริหารราชการแผ่นดินส่วนหัวเมือง เป็นการปกครองหัวเมืองที่อยู่ภายนอกราชธานี และมิใช่เมืองหน้าด่านและเมืองลูกหลวง ทางราชธานีเปิดโอกาสให้หัวเมืองชั้นนอกเขตราชธานี ปกครองตัวเองได้ แต่ต้องสวามิภักดิ์ต่อกษัตริย์อยุธยา
          การบริหารจัดการราชการแผ่นดินส่วนหัวเมือง อาจแบ่งได้เป็นหัวเมืองชั้นในชั้นนอก และหัวเมืองประเทศราช ดังนี้
แผนผังแสดงการบริหารราชการแผ่นดินส่วนหัวเมืองในสมัยอยุธยาตอนต้น

หัวเมืองชั้นใน
        มักจะเป็นเมืองที่อยู่ไม่ไกลจากราชธานี ทางราชธานีจะแต่งตั้งผู้รั้งและคณะกรรมการเมืองไปปกครองโดยตรง เช่น เมืองราชบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท เป็นต้น
หัวเมืองชั้นนอก
         เป็นเมืองที่อยู่ห่างไกลออกไปจากราชธานี ผู้ปกครองเมืองส่วนใหญ่สืบทอดตำแหน่งเจ้าเมืองทางสายโลหิตจากพ่อสู่ลูก รวมทั้งมีจตุสดมภ์ เช่นเดียวกับราชธานี และไม่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการแก่ราชธานี แต่ต้องเกณฑ์แรงงานไปช่วยราชการตามที่ราชธานีกำหนด
หัวเมืองประเทศราช
          มีการปกครองเป็นอิสระแก่ตนเองแต่ทั้งนี้ต้องมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อยุธยาด้วยการส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายตามวาระ เช่น ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง หัวเมืองประเทศราชอาจจะเป็นเมืองของชนต่างเชื้อชาติ ภาษา แต่บางเมือง เป็นของกลุ่มคนไทยที่ราชธานีให้การรับรอง เช่น เมืองนครศรีธรรมราช สุโขทัย เป็นต้น

การเมืองการปกครองสมัยอยุธยา ตอนที่ 2 คลิกที่นี่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น