หน้าเว็บ

วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การเมืองการปกครองสมัยอยุธยา ตอนที่ 2


                      การเมืองการปกครองสมัยอยุธยา


(ต่อจากตอนที่ 1 )

          2.2 สมัยการปฏิรูปกาปกครองครั้งสำคัญ (พ.ศ. 1991-2072)  เริ่มตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991-2072) เป็นต้นมาจนถึงสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ. 2034-2072) นับเป็นช่วงที่มีการปฏิรูปการปกครองราชอาณาจักรให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพของอาณาจักรอยุธยาที่ขยายกว้างออกไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังที่อาณาจักรสุโขทัยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาเมื่อในการปรับปรุงการปกครองครั้งแรกที่เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้น พระองค์ทรงปรับปรุงการปกครองให้เป็นระเบียบแบบแผน ดังนี้

              1. การบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลาง ในการบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลางนั้น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดให้แบ่งส่วนราชการทีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินและควบคุมกำลังคนออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน โดยมีอัครมหาเสนาบดีเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ คือ สมุหพระกลาโหม และสมุหนายก
          สมุหพระกลาโหม มีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาและตรวจราชการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการฝ่ายทหารทั่วราชอาณาจักร เช่น มีหน้าที่วางแผนการรบในยามสงคราม ฝึกซ้อมกำลังพลในยามปกติ และจัดหาอาวุธ กำลังคนสำหรับการทำสงคราม เป็นต้น สำหรับสมุหกลาโหมมียศและราชทินนามว่า “เจ้าพระยามหาเสนาบดี”
          สมุหนายก มีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาและตรวจราชการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายพลเรือนทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งควบคุมดูแลจตุสดมภ์ทั้ง 4 ในสมัยนี้ยังคงมีหน้าที่และความรับผิดชอบเช่นเดิม แต่มีการเปลี่ยนแปลงยศและราชทินนามของเสนาบดีจตุสดมภ์ต่างไปจากเดิม คือ
          กรมเวียง(เมือง)        ขุนเวียง      เปลี่ยนเป็น       พระนครบาล
          กรมวัง                  ขุนวัง         เปลี่ยนเป็น       พระธรรมาธิกรณ์
          กรมคลัง                 ขุนคลัง      เปลี่ยนเป็น       พระโกษาธิบดี
          กรมนา                  ขุนนา        เปลี่ยนเป็น       พระเกษตราธิบดี
สำหรับสมุหนายกมียศและราชทินนามว่า “เจ้าพระยาจักรี”

                2. การบริหารราชการแผ่นดินส่วนหัวเมือง ในการบริหารราชการแผ่นดินส่วนหัวเมืองนั้น สืบเนื่องมาจากในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ อาณาจักรสุโขทัยได้ถูกผนวกเข้ารวมกับอาณาจักรอยุธยาใน พ.ศ.2006 ดังนั้น อาณาจักรอยุธยาจึงมีหัวเมืองต่างๆ เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม มีจำนวนพลเมืองเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องจัดระบบการบริหารราชการแผ่นดินหัวเมืองใหม่เพื่อให้เกิดความสำคัญทัดเทียมกันระหว่างบรรดาหัวเมืองในอาณาจักรอยุธยาแต่เดิมกับหัวเมืองในอาณาจักรสุโขทัยที่รวมเข้ามาภายหลังโดยมีการแบ่งลักษณะต่างๆ ดังนี้
แผนผังแสดงการบริหารราชการแผ่นดินส่วนหัวเมืองในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

            -หัวเมืองชั้นใน  มีการยกเลิกเมืองลูกหลวงหรือเมืองหน้าด่านทั้ง 4 ทิศ และขยายขอบเขตการปกครองราชธานีให้กว้างออกไป โดยให้เมืองเหล่านี้รวมเข้าเป็นเมืองที่อยู่ในวงราชธานีเป็นเมืองชั้น จัตวา มีผู้รั้งเมืองกับกรมการเมืองเป็นพนักงานปกครองและขึ้นตรงต่อเสนาบดีต่างๆ ที่ราชธานี หัวเมืองชั้นในที่สำคัญ เช่น เมืองราชบุรี เพชรบุรี ปราณบุรี สมุทรสงคราม นครชัยศรี สุพรรณบุรี ชัยนาท ชลบุรี นครสวรรค์ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และนครนายก
           -หัวเมืองชั้นนอก(เมืองพระยามหานคร) มีการจัดเมืองเหล่านี้ออกเป็นชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี ตามลำดับขนาดและความสำคัญของเมือง หัวเมืองชั้นนอกต่างมีเมืองขึ้นอยู่กับการปกครอง เช่นเดียวกันกับราชธานี โดยพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งขุนนางชั้นสูงไปเป็นผู้สำเร็จราชการเมือง มีอำนาจบังคับบัญชาทุกอย่าง  หัวเมืองชั้นนอกที่สำคัญ เช่น พิษณุโลก ชุมพร นครศรีธรรมราช จันทบุรี เป็นต้น ส่วนการปกครองท้องที่ ในเขตเมืองหนึ่งๆ จะแบ่งการปกครองออกเป็น บ้าน ตำบล แขวง และเมือง
           -หัวเมืองประเทศราช ลักษณะการปกครองยังคงเป็นแบบเดียวกันกับสมัยอยุธยาตอนต้น นั่นคือ มีเจ้าเมืองของตนเองเป็นผู้ปกครอง แต่ต้องส่งต้นไม้เงิน  ต้นไม้ทองและเครื่องราชบรรณาการมาถวายแด่พระมหากษัตริย์ที่กรุงศรีอยุธยาตามกำหนดเวลา ต้องเกณฑ์ผู้คนและสิ่งของไปช่วยราชการที่ราชธานีกำหนด หัวเมืองประเทศราชสมัยนั้น เช่น ทวาย ตะนาวศรี เชียงกราน เขมร มะละกา เป็นต้น
         ต่อมาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ได้ทรงจัดให้มีการทำสารบัญชีรายชื่อ เพื่อเกณฑ์ไพร่พล และจัดตั้งกรมสุรัสวดี(สัสดี) เพื่อขึ้นทะเบียนกำลังพล และจัดทำพิธีเกณฑ์ไพร่พล เป็นต้น

           2.3 สมัยอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ. 2072-2310) ใน “พระธรรมนูญ” ว่าด้วยการใช้ตราประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2176 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้แสดงให้เห็นว่าสมุหพระกลาโหมมีหน้าที่บังคับบัญชากิจการทหารและพลเรือนในหัวเมืองฝ่ายใต้ และสมุหนายกมีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชากิจการทหารแลพลเรือนในหัวเมืองฝ่ายเหนือ ส่วนเสนาบดีกรมคลังมีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชากิจการทหารและพลเรือนในหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก ต่อมาไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าในรัชกาลใด สมุหพรกลาโหมทำความผิด พระมหากษัตริย์จึงยกหัวเมืองฝ่ายใต้การปกครองของสมุหพระกลาโหมมาขึ้นตรงกับกรมคลัง สำหรับจตุสดมภ์ในสมัยอยุธยาตอนปลายมีบางกรมเปลี่ยนชื่อเรียก ส่วนเสนาบดีเลื่อนยศสูงขึ้นและเปลี่ยนราชทินนามเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ พระยายมราช(กรมนครบาล) พระยาธรรมาธิบดี(กรมวัง) พระยาศรีธรรมราชหรือโกษาธิบดี(กรมคลัง และพระยาพลเทพ(กรมนา)
แผนผังแสดงการปกครองในสมัยอยุธยาตอนปลาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น