หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2558

วรรณกรรมสมัยอยุธยา


วรรณกรรมที่สำคัญสมัยอยุธยา

         กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีไทยตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๙๓ ถึง พ.ศ. ๒๓๑๐ นับเป็นเวลายาวนาน ถึง ๔๑๗ ปี มีกวีและวรรณคดีจำนวนมาก วรรณคดีแต่ละเรื่อง ล้วนมีคุณค่าเป็นมรดก สมควรรักษาไว้ตลอดไป ในที่นี้จะกล่าวถึงวรรณคดีบางฉบับ คือ ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตพระลอ สมุทรโฆษคำฉันท์ โคลงกำสรวล และบทเห่เรือ ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ดังนี้

ลิลิตยวนพ่าย

        เป็นกวีนิพนธ์เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สันนิษฐานว่า แต่งในรัชสมัย สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (ประมาณ พ.ศ. ๒๐๓๔ - ๒๐๗๒) พระราชโอรสของ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เนื้อเรื่องกล่าวถึงพระราชประวัติของ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ตั้งแต่ประสูติ จนถึงการขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ณ กรุงศรีอยุธยา เล่าถึงพระปรีชาสามารถในด้านการปกครอง การทหาร และการศาสนา จุดสำคัญที่สุดของเนื้อเรื่องคือ การทำสงครามกับยวนหรือเชียงใหม่ ซึ่งยกทัพมาตีหัวเมืองทางเหนือจนตีสุโขทัยได้ แล้วยกทัพต่อลงมาจะตีพิษณุโลก และกำแพงเพชร ดังนั้น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงทรงยกทัพไปปราบหลายครั้ง กว่าจะได้รับชัยชนะ

ลิลิตพระลอ

      เป็นวรรณคดีสมัยอยุธยา ที่คนไทยปัจจุบัน รู้จัก และคุ้นเคยมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับวรรณคดีเรื่องอื่นๆ ในสมัยเดียวกัน 
      เรื่องพระลอเป็นนิยายประจำถิ่นไทยภาคเหนือ เชื่อว่า มีเค้าโครงเรื่องเกิดขึ้น ในแคว้นล้านนา ระหว่าง พ.ศ. ๑๖๑๖ - ๑๖๙๓ ปัจจุบัน ท้องที่ของเรื่องอยู่ในจังหวัดแพร่และลำปาง เนื้อเรื่องกล่าวถึงความรักของหนุ่มสาว (พระลอ พระเพื่อน พระแพง) ที่มีอุปสรรคจนต้องยอม แลกด้วยชีวิต 
        ผู้แต่ง และสมัยที่แต่งลิลิตพระลอ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอน แต่สันนิษฐานว่า คงแต่งในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หรือมิฉะนั้น คงเป็นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช


สมุทรโฆษคำฉันท์ 
        เป็นวรรณคดีมรดกอีกเรื่องหนึ่ง ที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่า เป็น "ยอดแห่ง คำประพันธ์ประเภทฉันท์" กวีเอกของไทย ๓ ท่าน ได้แต่งเรื่องนี้ เริ่มต้นด้วยพระมหาราชครูรับกระแสพระราชดำรัสจาก สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้แต่งในรัชสมัยของพระองค์ (พ.ศ. ๒๑๙๙ - ๒๒๓๑) พระมหาราชครูแต่งตอนที่ ๑ และตอนที่ ๒ พอใกล้จะจบตอนที่ ๒ พระมหาราชครูได้ถึงแก่อนิจกรรม ดังนั้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงทรงพระราชนิพนธ์ต่อ แต่ก็ยังไม่จบ ทิ้งไว้ จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงพระนิพนธ์ ต่อจนจบเรื่อง ครบทั้ง ๔ ตอน เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒ สมุทรโฆษคำฉันท์ มีจุดประสงค์แต่งขึ้น เพื่อใช้เป็นบทพากย์หนัง เนื้อเรื่องได้มาจาก สมุทรโฆสชาดกในปัญญาสชาดก กล่าวถึงการ ผจญภัยที่สนุกสนานตื่นเต้นของพระสมุทรโฆษและ นางพินทุมดี ที่ได้พระขรรค์วิเศษพาเหาะไปเที่ยวยังที่ต่างๆ ได้ ครั้นพระขรรค์ถูกลักไป ทั้งสองก็ต้องพลัดพรากจากกัน ต่างผจญภัยต่อไปอีก จนสามารถกลับนครได้ เรื่องราวที่สนุกสนานตื่นเต้นนี้ เหมาะสมกับการเล่นหนัง ให้คนทั่วไปชม นอกจากนี้ จิตรกรไทยได้นำไปวาดภาพ ลงบนผนังโบสถ์ เช่น ที่พระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม และวัดดุสิตาราม กรุงเทพมหานคร เป็นต้น


อนิรุทธคำฉันท์ 

           กวีผู้แต่งอนิรุทธคำฉันท์คือ ศรีปราชญ์ บุตรของพระมหาราชครู มีจุดมุ่งหมายในการแต่ง เพื่อแสดงให้บิดาตนเห็นว่า "สามารถแต่งเรื่องให้เป็นชิ้นเป็นอันได้" เรื่องนี้ได้รับยกย่องว่า เป็นเอก ในเชิงการแต่งฉันท์ เป็นตัวอย่างของการแต่ง ฉันท์ในสมัยหลัง เช่น สมัยรัตนโกสินทร์ เรื่องนี้ได้เค้าเรื่องมาจากคติพราหมณ์ ตอน พระนารายณ์อวตารมาเป็นพระกฤษณะ ในเรื่อง อ้างว่า พระอนิรุทธเป็นพระนัดดาของพระกฤษณะ วันหนึ่ง พระอนิรุทธบรรทมหลับใต้ต้นไทร พระไทรได้อุ้มพระอนิรุทธไปสมกับนางอุษา ธิดาของพระยายักษ์พานาสูร และถูกพระยายักษ์จับได้ พระกฤษณะจึงต้องยกกองทัพมาช่วยให้รอดพ้น จากพระยายักษ์ ซึ่งไปขอร้องพระศิวะให้มาช่วย ฝ่ายตน พระศิวะได้แต่ขอร้องพระกฤษณะ มิให้ประหารพระยายักษ์ และพระยายักษ์ต้องยอมให้พระอนิรุทธกับนางอุษา ได้ครองรักกัน เรื่องนี้ มีลักษณะเป็นเรื่องเล่าเชิงนิทานนิยาย ที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้นมหัศจรรย์ การผจญภัย และจบลงด้วยความสุขสมหวัง


โคลงกำสรวล 

           โคลงกำสรวลเป็นวรรณคดีโบราณที่สำคัญมาก มีลักษณะยอดเยี่ยมหลายประการ โดยเฉพาะการใช้ถ้อยคำ และโวหาร เนื่องจากผู้แต่งเลือกสรรคำมาแต่ง ทุกบาททุกบท ล้วนมีความหมายเด่น ลึกซึ้ง สะเทือนอารมณ์ กวีผู้แต่งได้ รักษาข้อบังคับการแต่งโคลงอย่างเคร่งครัด ความดีเด่นพิเศษของวรรณคดีเรื่องนี้คือ ความคิดที่แปลกและยิ่งใหญ่ จนได้รับการยกย่องจากกวีรุ่นหลัง ให้เป็นแบบอย่างงานเขียน ที่แสดงความคิด ที่ไม่ซ้ำแบบใคร ทั้งนี้เพราะกวีทั่วๆ ไป เมื่อต้องเดินทางจากคนรัก ย่อมมีความห่วงใย จึงเลือกฝากนางไว้กับผู้ใหญ่ ที่ตนแน่ใจว่า จะคุ้มครองหญิง ที่รักให้ปลอดภัย แต่กวีผู้แต่งโคลงกำสรวล กลับใช้โวหารที่แหลมคม ยั่วล้อผู้ใหญ่


บทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ 

       เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์เป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ในสมัยอยุธยา พระนามเดิมคือ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรไชยเชษฐ์สุริย์วงศ์ เรียกกันทั่วไปว่า "เจ้าฟ้ากุ้ง" เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ ในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๖ 
       "เจ้าฟ้ากุ้ง"
 ทรงพระนิพนธ์บทร้อยกรองไว้หลายเรื่อง ซึ่งบทที่ได้รับยกย่องว่าดีที่สุดคือ บทเห่เรือ ซึ่งมีความดีเด่น ด้านการคิดสร้างสรรค์ รูปแบบแปลกใหม่ ทรงใช้กาพย์และโคลงคู่กัน คล้ายกาพย์ห่อโคลง และทรงเปลี่ยนแปลงวิธีแต่งใหม่ โดยแบ่งเนื้อเรื่องออกเป็นตอนๆ แต่ละตอนใช้โคลง ๑ บท แล้วแต่งกาพย์เลียนความ ขยายความอีกจำนวนหนึ่ง แล้วจึงเริ่มต้นตอนต่อไป ด้วยโคลง แล้วขยายความด้วยกาพย์ต่อไปอีก รูปแบบฉบับ เช่น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาภัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น นอกจากนี้ บทเห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งยังใช้เห่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ และในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในปัจจุบันด้วย

1 ความคิดเห็น: