สมเด็จพระนครินทราธิราช
สมเด็จพระนครินทราธิราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาล ที่ ๖ แห่งกรุงศรีอยุธยา และพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ทรงครองราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยาเป็นเวลา๑๕ ปี เฉลิมพระนามว่าสมเด็จพระนครินทราธิราช (สมเด็จพระอินทราธิราช หรือสมเด็จพระอินทราชาธิราช) นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ราชวงศ์สุพรรณภูมิจะได้ครองอำนาจอย่างเด็ดขาดในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ทั้งหมด ภายใต้พระมหากษัตริย์ราชวงศ์สุพรรณภูมิซึ่งได้ครองราชย์สมบัติที่กรุงศรีอยุธยาสืบต่อมา อีกหลายพระองค์
สมเด็จพระนครินทราธิราชเสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. ๑๘๘๒ เป็นพระราชนัดดาใน สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิที่ครองราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยา พระนามเดิมขณะครองเมืองสุพรรณบุรีก่อนขึ้นครองราชย์ที่กรุงศรีอยุธยาคือเจ้านคร-
อินทร์ ทรงมีความสัมพันธ์กับจีนอย่างสนิทสนมถึงกับเคยเสด็จฯ ไปเฝ้าจักรพรรดิจีนเมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๐ เพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการ ได้แก่ ช้างขอ (ช้างที่ฝึกแล้ว) เต่า และของพื้นเมือง เมื่อเสด็จกลับ จักรพรรดิจีนได้พระราชทานเครื่องผ้านุ่งห่มเป็นชุดและผ้าแพรพรรณต่างๆ กลับมาด้วย ความสัมพันธ์ ในระบบการทูตบรรณาการอย่างใกล้ชิดกับราชสำนักจีนเช่นนี้เอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายที่มีสัมพันธไมตรีด้วย คือ ในทางการเมือง เนื่องจากจีนเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ การรับทูตจากเจ้าเมืองใดถือว่าเจ้าเมืองนั้น ได้รับสิทธิธรรมในการเป็นผู้ปกครอง ส่วนในทางเศรษฐกิจ ระบบการทูตบรรณาการเปิดโอกาสให้มีการ ค้าขายกับจีนมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้แม้ว่าเจ้านครอินทร์เป็นเพียงเจ้าเมืองสุพรรณบุรี จักรพรรดิจีนก็ ทรงให้ความสนิทสนมและทรงยกย่องว่าเป็นกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งในระดับเดียวกับสมเด็จพระเจ้า รามราชา
ต่อมาสมเด็จพระเจ้ารามราชาทรงมีข้อพิพาทกับเจ้าพระยามหาเสนาบดี อัครมหาเสนาบดี จนถึงกับเจ้าพระยามหาเสนาบดีต้องหนีไปขึ้นกับเจ้านครอินทร์และยกกำลังจากสุพรรณบุรีมายึด พระราชวัง แล้วกราบทูลเชิญเจ้านครอินทร์ขึ้นครองราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๑๙๕๒ เฉลิม พระนามว่าสมเด็จพระนครินทราธิราช ขณะมีพระชนมายุได้ ๗๐ พรรษา ตามหลักฐานของวันวลิต ส่วนสมเด็จพระเจ้ารามราชาก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ไปครองเมืองปทาคูจาม เมื่อสมเด็จพระ นครินทราธิราชขึ้นครองราชย์แล้วก็ยังคงส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับจีนต่อไป ด้วยการส่งราชทูตไปเจริญ ทางพระราชไมตรีกับจีนอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลต่อความเจริญรุ่งเรืองทางการค้า เศรษฐกิจ และ ศิลปกรรมของไทยในช่วงต้นสมัยอยุธยา นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ปูพื้นฐานความเจริญรุ่งเรืองให้แก่กรุงศรีอยุธยาในระยะเวลาต่อมา
ผลของความมั่งคั่งทำให้มีการซื้อสินค้าอันงดงามประณีตและมีราคาสูงจากต่างประเทศเข้ามา ที่สำคัญ ได้แก่ ผ้าแพรพรรณหลากสี ผ้าต่วน เครื่องประดับ เครื่องใช้สอย และเครื่องปั้นดินเผาเคลือบ ชนิดต่าง ๆ ที่สวยงามจากจีนในสมัยราชวงศ์เหม็ง ซึ่งมีใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในราชสำนักและ ตามบ้านผู้มีฐานะของกรุงศรีอยุธยา
การติดต่อค้าขายกับภายนอกโดยเฉพาะกับจีนทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางของการค้าขาย ทั้งภายในและภายนอกประเทศ มีการรับและการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มีการผลิตสินค้าเครื่อง สังคโลกและเครื่องปั้นดินเผาส่งไปค้าขายกับต่างประเทศตามหมู่เกาะที่ใกล้เคียง เช่น มลายู ชวา และฟิลิปปินส์ นับเป็นสิ่งใหม่ ๆ ที่นอกเหนือไปจากการส่งสินค้าป่าประเภทต่าง ๆ เป็นสินค้าออกตาม แบบเดิม ในระยะนี้เมืองบางเมืองในราชอาณาจักรได้กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมในการผลิตเครื่อง สังคโลกและเครื่องปั้นดินเผา เช่น เมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และพิษณุโลก สมเด็จพระนครินทราธิราช ได้ทรงขอช่างปั้นจีนมาสอนและทำเครื่องถ้วยชามในเมืองไทย และเนื่องจากพระองค์ทรงมีอำนาจเหนือ อาณาจักรสุโขทัยด้วย ก็คงทรงเลือกเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการผลิตเครื่อง สังคโลก เพราะเป็นแหล่งที่มีดินที่เหมาะแก่การทำเครื่องสังคโลก
ในด้านงานช่างศิลปกรรม มีการสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามที่สำคัญตามเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ภายในราชอาณาจักร เช่น ที่เมืองสุพรรณภูมิหรือสุพรรณบุรีมีการสร้างพระปรางค์วัดพระศรีรัตน- มหาธาตุ การสร้างพระปรางค์เป็นพระเจดีย์ประธานคงเกิดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้นนี้เอง และแพร่หลายทั่วไปทั้งในเขตพระนครศรีอยุธยาและหัวเมืองสำคัญ เช่น ราชบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี สวรรคโลก ฯลฯ การนำเครื่องปั้นดินเผาเคลือบมาใช้เป็นเครื่องประดับสถาปัตยกรรมทางศาสนา เช่น กระเบื้องมุงหลังคา ช่อฟ้าบราลี รวมทั้งกระเบื้องปูพื้นโบสถ์วิหารที่พบตามวัดสำคัญต่างๆ ดังในเมือง สุโขทัยและศรีสัชนาลัยก็เกิดขึ้นในระยะนี้ รวมทั้งงานจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นตามผนังในโบสถ์ วิหารและในพระสถูปเจดีย์ก็เริ่มแพร่หลาย ซึ่งล้วนได้รับอิทธิพลทางการช่างและศิลปกรรมจากจีน
นอกจากสมเด็จพระนครินทราธิราชได้ทรงสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่กรุงศรีอยุธยาในด้านการ ค้าขายกับต่างประเทศและความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวิทยาการดังกล่าวมาแล้ว พระองค์ยังทรงเริ่ม สร้างความมั่นคงและความยิ่งใหญ่ในทางการเมืองให้แก่อาณาจักรอยุธยาด้วย ดังทรงพยายามผนวก กรุงสุโขทัยและสุพรรณบุรีให้เข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๖๒ พระมหาธรรมราชาที่ ๓ แห่งสุโขทัยเจ้าเมืองพิษณุโลก (เมืองชัยนาทบุรี) เสด็จสวรรคต เมืองเหนือ ทั้งปวงเป็นจลาจลอันเนื่องมาจากพระยาบาลเมืองและพระยารามพระราชโอรสของพระมหาธรรมราชา ที่ ๓ (บางท่านว่าเป็นพระราชโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ ๒) ทรงแย่งชิงราชสมบัติแห่งกรุงสุโขทัย กัน เป็นเหตุให้สมเด็จพระนครินทราธิราชต้องเสด็จฯ ขึ้นไปถึงเมืองพระบาง (เมืองนครสวรรค์) แล้ว ทรงไกล่เกลี่ยให้พระยาบาลเมืองเป็นกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยครองเมืองพิษณุโลกอันเป็นเมืองหลวง และให้พระยารามเป็นเจ้าเมืองสุโขทัยอันเป็นเมืองเอก โดยต่างมีสถานะเป็นประเทศราชขึ้นต่ออยุธยา
ในครั้งนี้คงจะแยกเขตแดนเมืองสุโขทัยกับเมืองพิษณุโลกให้ปกครองเป็นต่างอาณาเขตกัน ดังนั้นจะเห็น ได้ว่าตอนนี้สุโขทัยยอมรับอำนาจของอยุธยา อยุธยาเข้ามาไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทภายในได้ และยังมีอำนาจแต่งตั้งกษัตริย์ของสุโขทัย ตลอดจนจัดแบ่งการปกครองภายในให้แก่สุโขทัยด้วย
ในช่วงนี้เองยังได้เกิดปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าอยุธยาได้เปลี่ยนยุทธวิธีจากการใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการขยายอำนาจขึ้นไปทางเหนือ เป็นการพยายามแทรกซึมเข้าไปในราชวงศ์สุโขทัยเพื่อควบคุมอย่างเด็ดขาด กล่าวคือเจ้าสามพระยาพระราชโอรสองค์หนึ่งของสมเด็จพระนครินทราธิราชได้เสกสมรสกับเจ้าหญิงสุโขทัย ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางด้านราชวงศ์ระหว่างอาณาจักรเหนือคือสุโขทัยและอาณาจักรใต้คืออยุธยา ทั้งสองพระองค์ได้ทรงให้กำเนิดสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถซึ่งต่อมาจะทรงเป็นผู้รวมอาณาจักรเหนือและอาณาจักรใต้เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
นอกจากนี้ สมเด็จพระนครินทราธิราชยังได้โปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสไปครองเมืองลูกหลวงต่าง ๆ เพื่อความมั่นคงของราชอาณาจักร ได้แก่ เจ้าอ้ายพระยาครองเมืองสุพรรณบุรีซึ่งเป็นเมืองลูกหลวง เจ้ายี่พระยาครองเมืองแพรกศรีราชา (เมืองสรรค์ คือบริเวณอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาทในปัจจุบัน)
และเจ้าสามพระยาครองเมืองชัยนาท (เมืองพิษณุโลก) ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านทางด้านเหนือในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๑๙๖๒-พ.ศ. ๑๙๖๗
สมเด็จพระนครินทราธิราชครองราชย์ได้ ๑๕ ปี ก็เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๑๙๖๗
อยากทราบว่าเสด็จสวรรคตแบบไหนครับจะได้เอาทำงานครับ
ตอบลบ